วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553












เต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เคยมีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในสมัย 130 ล้านปีก่อน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ (Fossil) ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านปีการแพร่กระจายของเต่าทะเล พบอยู่เฉพาะในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เต่าทะเลทั่วโลกพบอยู่ 8 ชนิดด้วยกัน คือ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea), เต่าตนุ (Chelonia mydas), เต่าหลังแบน (Chelonia depressa), เต่ากระ (Erethmochelys imbricata), เต่าหัวฆ้อน (Caretta caretta), เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่าหญ้าแอตแลนติค (Lepidochelys kempii) และเต่าดำ (Chelonia agassizii) ในประเทศไทยพบเต่าทะเลเพียง 5 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง, เต่าตนุ, เต่ากระ, เต่าหญ้า, และเต่าหัวฆ้อนโดยเต่าหัวฆ้อนไม่เคยพบขึ้นวางไข่ในประเทศไทยเลยตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่มีรายงานพบหากินอยู่ในน่านน้ำไทยในอดีตที่ผ่านมาเต่าทะเลถูกล่าจับไปเป็นจำนวนมาก โดยเนื้อและไข่ถูกนำไปเป็นอาหาร กระดอง นำไปเป็นเครื่องประดับและเครื่องตบแต่ง, หนังถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องหนังต่าง ๆ
นอกจากนั้นไขมันของเต่าทะเลยังสามารถนำไปสกัดใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ หรือน้ำหอมที่มีราคาอีกด้วยนอกจากการล่าจับเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ในอดีตได้มีการเปิดว่าประมูลเก็บฟองไข่เต่าทะเลเพื่อการค้า โดยผู้ว่าประมูลสามารถรวบรวมไข่เต่าทะเลนำไปค้าขาย ซึ่งในเงื่อนไขหนึ่งคือไข่เต่าทะเลประมาณ 20% จะต้องนำไปเพาะฟักเป็นตัวเพื่อปล่อยกลับลงสู่ทะเลทดแทนพันธุ์เต่าทะเลในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามปริมาณที่ปล่อยกลับสู่ทะเล ไม่สามารถชดเชยประชากรในธรรมชาติได้ เนื่องจากอัตรารอดของลูกเต่าทะเลในธรรมชาติน้อยมาก เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถูกล่าจับด้วยเครื่องมือทำการประมง ซึ่งการพัฒนาการของเครื่องมือประมงไทย ประเภท อวนลาก และเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2507 ทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องมือทำการประมงไทยสูงขึ้นมาก นอกจากนั้นการทำการประมงของไทยในสมัยนั้น ยังขาดมาตรการการควบคุมที่ดีพอ เต่าทะเลถูกทำลายโดยการประมงใกล้ฝั่งปีละจำนวนมาก เพราะปริมาณความต้องการกระดองและเนื้อเต่าทะเลเพื่อการส่งออกสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการล่าจับเต่าทะเลมากในระยะหนึ่ง ต่อมากรมประมงได้มองเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้ออกประกาศห้ามทำการประมงอวนลากใกล้กว่า 3 กิโลเมตร จากชายฝั่งและเพิ่ม กฏหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้นต่อมาสัมปทานเก็บฟองไข่เต่าทะเลได้ถูกยกเลิกไป สาเหตุจากการลดจำนวนของเต่าทะเลและแหล่งวางไข่เต่าทะเลหลายแห่งได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร
ปัจจุบันเต่าทะเลถูกจัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง โดยทั่วโลกกำลังตระหนักถึงการลดจำนวนลง และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า โดยเฉพาะเต่าทะเลในน่านน้ำไทย ซึ่งเหลือจำนวนน้อยมาก ถึงแม้ว่าจะมีกฏหมายคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเลแล้วก็ตาม จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ทุก ๆ ฝ่ายควรให้ความร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพื่อให้เต่าทะเลคงอยู่สืบไปก่อนที่จะสายเกินไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น